วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

โลกร้อน

ปรากฏการณ์โลกร้อน หรือ ภาวะโลกร้อน (global warming) คือปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกและผืนมหาสมุทรสูงขึ้น โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เป็นตัวการกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ไม่ให้คายออกไปสู่บรรยากาศ
ปรากฏการณ์โลกร้อนถือเป็นผลพวงจากการมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นในบรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้รังสีความร้อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามาถูกกักไว้ในโลกโดยไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปได้ หรือที่เรียกว่าภาวะเรือนกระจก การเกิดขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากกระบวนการเผาไหม้ของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหิน เป็นต้น ทั้งจากกิจกรรมการขนส่งและการผลิตกระแสไฟฟ้า แนวทางหนึ่งของการลดปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือ ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น อาทิ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับ ซึ่งปัจจุบันการใช้พลังงานหมุนเวียนบางประเภทยังมีต้นทุนที่แพงกว่าพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่น พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง) มีกระแสต่อต้านจากมวลชนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำจากการสร้างเขื่อน) และปัญหาความเพียงพอของวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิง (เช่น พลังงานชีวมวล ซึ่งใช้วัตถุดิบร่วมกับภาคเกษตร)

สาเหตุ

มหันตภัยร้ายที่กำลังคุกคามโลกอยู่ขณะนี้ คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ปริมาณมหาศาลที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศโลกหนาขึ้นเท่าไร ก็จะเป็นตัวการกักเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ไม่ให้คายออกไปสู่บรรยากาศ ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จาก การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ การขนส่งและ การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนั้น มนุษย์เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วยพร้อมๆกับการที่เราตัดและทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาล ทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง และได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของภาวะโลกร้อน ก็จะส่งผลให้อุณหภูมิของบรรยากาศโลก สูงขึ้นจนถึงระดับอันตรายผืนน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและธารน้ำแข็งบนภูเขาทั้งหมดทั่วโลกค่อยๆ ละลายลงเรื่อยๆ และอาจจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 ฟุต